แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน

การเคลื่อนที่ของปลา

การเคลื่อนที่ของปลา
                ปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศปลาจึงมีโครงสร้างในการเคลื่อนที่ที่เหมาะสมกับแหล่งที่อยู่ดังนี้
1. ปลามีรูปร่างเพรียว ผิวเรียบลื่นและมีเมือก ช่วยลดแรงเสียดทานของน้ำ นอกจากนี้ปลายังมีครีบที่แบนบางยังช่วยให้ปลาสามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ทั้ง 3 มิติ คือ การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและถอยหลัง หรือการเคลื่อนที่ในลักษณะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา รวมทั้งการเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่งได้ ส่วนความเร็วในการเคลื่อนที่ของปลา พบว่าปลาที่มีรูปร่างแบนเพรียวจะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าปลาที่มีรูปร่างเพรียวแบบกลมยาว
2. ปลามีครีบ ช่วยในการเคลื่อนที่ประกอบด้วยครีบคู่ ได้แก่ ครีบอก (pectoral fin) และครีบสะโพก (pelvic fin) ทำหน้าที่ช่วยในการพยุงตัวปลาและการเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง ส่วนครีบเดี่ยว ได้แก่ ครีบหลัง
(dorsal fin) และครีบหาง (caudal fin) ทำหน้าที่ในการพัดโบกให้ปลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ นอกจากนี้แล้วครีบต่าง ๆ เหล่านี้ยังช่วยในการทรงตัวของปลา เพื่อป้องกันไม่ให้เสียทิศทางในการเคลื่อนที่อีกด้วย


รูปแสดงรูปร่างและครีบต่าง ๆ ของปลา
(ที่มา: http://www.marinebiology.org/fish.htm)

3.ปลามีกล้ามเนื้อยึดติดกับกระดูกสันหลัง  การหดตัวของกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนของลำตัวปลาและกล้ามเนื้อยึดเกาะกับกระดูกครีบต่าง ๆ ไม่พร้อมกันทำให้ปลาเคลื่อนที่ได้
4.ปลามีกระเพาะลม ซึ่งช่วยในการลอยตัวของปลาที่นอกเหนือจากการลอยตัวของน้ำ พบในปลากระดูกแข็ง เช่น ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาทู
.......... การเคลื่อนที่ของปลา เกิดจากการทำงานร่วมกันของโครงสร้างลำตัวส่วนต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการเคลื่อนที่ กล้ามเนื้อยึดติดกับกระดูกสันหลังมีการหดและคลายตัว โดยการหดตัวจะเกิดขึ้นตรงข้ามกัน (antagonism)  ของกล้ามเนื้อทั้งสองข้างของลำตัว และจะค่อย ๆ หดตัวจากส่วนหัวไปยังส่วนหางทำให้ลำตัวปลามีลักษณะโค้งไปมาคล้ายรูปตัวเอส (S) ขณะเดียวกันครีบหางจะพัดโบกไปในทิศทางตรงกันข้ามกับส่วนหัวทำให้ปลาสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ส่วนครีบต่าง ๆ ช่วยในการทรงตัวและควบคุมทิศทางในการเคลื่อนที่
.......... ปลาไหล เป็นปลาที่แตกต่างจากปลาชนิดอื่น เนื่องจากมีลำตัวกลม  ยาว และไม่มีครีบ แต่ปลาไหลก็เคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น การที่ปลาไหลเคลื่อนที่ว่องไว เนื่องจาก
ปลาไหลมีกล้ามเนื้อมาก เพราะลำตัวยาว และปลาไหลมีเมือกหุ้มผิวลำตัวมากทำให้ลื่นเป็นการลดแรงเสียดทานกับน้ำที่อยู่รอบตัวไปได้มาก เมื่อกล้ามเนื้อของปลาไหลหดตัวจึงทำให้เกิดแรงในการผลักดัน
ปลาไหลพุ่งไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี


รูปแสดงการเคลื่อนที่ของปลา
(ที่มา: http://www.bothong.ac.th/Biology3/73.html)


ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเคลื่อนที่ของปลา
(ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=U_VJ_0wORbM)

เอกสารอ้างอิง: พจน์ แสงมณี และขวัญสุดา ประวะภูโต. (2552). Compact ชีววิทยา ม. 5 เล่ม 3,หน้า 12-13


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน

< กลับหน้าหลัก>