แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน

การเคลื่อนที่ของนก

นกเป็นสัตว์ปีก เคลื่อนที่โดยการเดินด้วยขาและการบินไปในอากาศด้วยการขยับปีก การบินของนกเกิดจากการทำงานร่วมกันของอวัยวะต่าง ๆ และความเหมาะสมของโครงสร้างร่างกาย ดังนี้
1. กล้ามเนื้อที่ควบคุมการขยับปีก ที่ยึดอยู่ระหว่างกระดูกโคนปีก (humerus) กับกระดูกอก (sternum) ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อยกปีกและกล้ามเนื้อกดปีกทำงานแบบสภาวะตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อกล้ามเนื้อยกปีกหดตัว กล้ามเนื้อกดปีกคลายตัวปีกของนกจะยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อกล้ามเนื้อยกปีกคลายตัว กล้ามเนื้อกดปีกหดตัวปีกของนกจะถูกดึงลงหรือปีกถูกกดตัวลง เมื่อมีการขยับปีกขึ้นลงอย่างต่อเนื่องจึงทำให้นกสามารถบินได้


รูปแสดงกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขยับปีกของนก
(ที่มา: http://www.learner.org/jnorth/spring2002/species/humm/Update032802.html)

2. ปีกนก เป็นอวัยวะที่โครงสร้างภายในมีลักษณะคล้ายคลึงกับแขนคน ปีกนกช่วยให้นกสามารถบินได้ เนื่องจากโครงสร้างของปีกด้านบนมีความยาวมากกว่าด้านล่างเช่นเดียวกับปีกเครื่องบิน เมื่อนกลอยตัวอยู่ในอากาศ อากาศที่ไหลผ่านด้านบนของปีกนกจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าอากาศที่ไหลผ่านด้านล่างของปีก ทำให้ความดันอากาศใต้ปีกสูงกว่าความดันอากาศด้านบน ดังนั้นความดันอากาศด้านล่างของปีกนกจึงช่วยพยุงปีกและลำตัวของนกให้ลอยอยู่ในอากาศได้

3. ขนนก ขนที่ปกคลุมผิวลำตัวนก เป็นขนแบบก้านหรือขนแบบแผง (feather) มีลักษณะเบาบางช่วยอุ้มอากาศขณะบินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ขนนกยังป้องกันไม่ให้อากาศผ่านได้ในขณะที่นกหุบปีกลง ทำให้เกิดความดันอากาศช่วยดันตัวนกให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อนกยกปีกขึ้นขนนกบริเวณปีกเปิดออกทำให้อากาศผ่านได้จึงไม่เกิดแรงต้านขณะที่นกบิน

รูปแสดงโครงสร้างของปีกนก
(ที่มา: http://www.thaigoodview.com/node/32468)

4.ลำตัวของนก นกมีน้ำหนักเบา เนื่องจากโครงกระดูกมีลักษณะเป็นโพรง มีถุงลมที่เจริญดีอยู่ติดกับปอดแทรกอยู่ในช่องว่างของลำตัวและในโพรงกระดูก  รวมทั้งนกไม่มีกระเพาะปัสสาวะ น้ำหนักตัวจึงน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของลำตัว ทำให้นกเคลื่อนที่ด้วยการบินอยู่ในอากาศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ถุงลมยังช่วยให้นกได้รับออกซิเจนเพียงพอต่อเมแทบอลิซึมที่สูงมาก เพราะการเคลื่อนที่ด้วยการบินนั้นต้องใช้พลังงานในปริมาณที่สูงมาก  โดยถุงลมจะทำหน้าที่เก็บอากาศสำรองไว้ ขณะหายใจเข้าอากาศที่ผ่านปอดส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ที่ถุงลม เมื่ออากาศที่ใช้แล้วออกจากปอด อากาศที่เก็บไว้ในถุงลมจะเคลื่อนเข้าสู่ปอดทันทีซึ่งเป็นการช่วยให้ปอดทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนแก๊สได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นกจึงได้รับออกซิเจนเพียงพอต่อเมแทบอลิซึมภายในเซลล์

รูปแสดงโครงสร้างภายในของนก
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=72210)


รูปแสดงการเคลื่อนที่ของปีกนกขณะบิน
(ที่มา: http://www.vcharkarn.com/lesson/view.php?id=1267)


ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเคลื่อนที่ของนก
(ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=t4OSfFWk0u8&feature=related)

เอกสารอ้างอิง: พจน์ แสงมณี และขวัญสุดา ประวะภูโต. (2552). Compact ชีววิทยา ม. 5 เล่ม 3,หน้า 16-18


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน

< กลับหน้าหลัก>