แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน

โครงสร้างของกระดูก

กระดูกทุกชนิดมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย
1. เยื่อกระดูก หรือ เยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) ทำหน้าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นยึดติดกับกระดูกขณะเดียวกันหลอดเลือดในเยื่อกระดูกยังทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกระดูก ด้านในของเยื่อกระดูกมีเซลล์ที่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์กระดูกได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทจำนวนมากที่เยื่อกระดูก

2. ส่วนประกอบภายในกระดูก คือ เนื้อกระดูก ได้แก่ กระดูกเนื้อแน่น (compact bone) และกระดูกฟองน้ำ (spongy bone) ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์กระดูก (osteocyte) ที่มีเลือดและเนื้อเยื่อประสาท ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและควบคุมการทำงานของเซลล์กระดูก สารที่เป็นส่วนสำคัญในกระดูก คือ แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) และแคลเซียมฟอสเฟส (CaPO4) ในกระดูกท่อนยาวมีเซลล์ไขกระดูก (bone marrow cell) ที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและเพลตเลตขณะที่อยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ เซลล์ไขกระดูกจะไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ยกเว้นไขกระดูกแดงบริเวณปลายกระดูกเท่านั้นที่ยังทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง

รูปแสดงโครงสร้างภายในกระดูก
(ที่มา: http://nicepictures08.blogspot.com/2012/07/bone-marvel-of-strength.html)

กระดูกอ่อน (Cartilage) กระดูกอ่อนเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยเซลล์กระดูกอ่อน สารระหว่างเซลล์และเส้นใย ในกระดูกอ่อนไม่มีหลอดเลือดหล่อเลี้ยง กระดูกอ่อนแบ่งออกเป็น 3ชนิดคือ
1.  กระดูกอ่อนไฮอะลีน(hyaline cartilage) ได้แก่ กระดูกอ่อนที่ผนังกั้นรูจมูก เป็นกระดูกอ่อนที่เส้นใยแทรกอยู่จำนวนน้อย
2.  กระดูกอ่อนไฟโบร (fibro cartilage) จัดเป็นกระดูกที่มีความเหนียวและแข็งแรงมากเนื่องจากมีเส้นใยคอลลาเจนแทรกอยู่จำนวนมาก เช่น กระดูกอ่อนที่กั้นระหว่างข้อของกระดูกสันหลัง
3.  กระดูกอ่อนอิลาสติก (elastic cartilage) เป็นกระดูกอ่อนที่มีความยืดหยุ่นสูงเนื่องจากมีเส้นใยอิลาสติกแทรกอยู่จำนวนมาก เช่น กระดูกอ่อนที่ใบหู


รูปแสดงกระดูกอ่อนของจมูก
(ที่มา: http://www.mayoclinic.com/health/medical/IM01949)


รูปแสดงตำแหน่งกระดูกอ่อนที่ใบหู
(ที่มา: http://www.infovisual.info/03/048_en.html)


ภาพเคลื่อนไหวแสดงโครงกระดูกของคน
(ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=lUP-D4dKp14&feature=g-vrec&context=G2d14562RVAAAAAAAAAw)

2. ข้อต่อ (joint) ช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวได้สะดวก สามารถเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง การเชื่อมต่อกันของกระดูกตรงข้อต่อนั้นมีหลายลักษณะ เช่น
2.1 ข้อต่อแบบบานพับ (hinge joint) ทำให้การเคลื่อนไหวตรงส่วนนั้นจำกัดได้เพียง ทิศทางเดียว เหมือนกับการปิด- เปิดบานประตู เช่นข้อต่อบริเวณข้อศอก
2.2 ข้อต่อแบบลูกกลมในเบ้า (ball and socket joint) ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนนั้นเป็นแบบอิสระ ขยับได้หลายทิศทาง เช่น ข้อต่อที่หัวไหล่
2.3 ข้อต่อแบบเดือย (pivot joint) ทำให้สามารถก้ม เงย บิดไปทางซ้าย ขวา เช่น ข้อต่อที่ต้นคอกับฐานกะโหลกศีรษะ
2.4 ข้อต่อแบบสไลด์ (gliding joint) เป็นกระดูกแบน 2 ชิ้น เช่น ข้อต่อกระดูกข้อมือ ข้อต่อกระดูกข้อเท้า และข้อต่อกระดูกสันหลัง
2.5 ข้อต่อแบบอานม้า (saddle joint) เป็นข้อต่อที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้บางส่วน เช่น ข้อต่อระหว่างกระดูกฝ่ามือกับกระดูกนิ้วหัวแม่มือ
2.6 ข้อต่อแบบปุ่ม (condyloid joint) มีลักษณะคล้ายข้อต่อแบบลูกกลมในเบ้าแต่เคลื่อนไหวได้น้อยกว่า เช่น ข้อต่อระหว่างกระดูกฝ่ามือกับกระดูกนิ้วมือ
.......... ข้อต่อของกระดูกส่วนใหญ่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้แต่มีข้อต่อบางแห่งที่ทำหน้าที่ยึดกระดูกและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้เพียงเล็กน้อย เช่น ข้อต่อของกระดูกซี่โครง


รูปแสดงข้อต่อแบบต่าง ๆ
(ที่มา: http://www.bcnlp.ac.th/Anatomy/page/apichat/bone/page/joint02.html)


ภาพเคลื่อนไหวแสดงข้อต่อแบบต่าง ๆ
(ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=zWo9-3GJpr8&feature=related)

3. น้ำไขข้อ (synovial fluid)เป็นของเหลวที่อยู่ระหว่างกระดูกบริเวณข้อต่อทำหน้าที่หล่อลื่นไม่ให้กระดูกเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหว และทำให้เคลื่อนไหวสะดวก ไม่เกิดความเจ็บปวด


รูปแสดงตำแหน่งน้ำไขข้อ
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=35519)

4. เอ็นยึดข้อต่อ (ligament) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีความเหนียวทนทานจึงเป็นโครงสร้างที่ยึดกระดูกให้เชื่อมติดต่อกันเพื่อทำหน้าที่เป็นโครงร่างค้ำจุนของร่างกาย ทำให้กระดูกทำงานสัมพันธ์กันในการเคลื่อนไหว เช่น เอ็นร้อยหวายที่ยึดกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้า


รูปแสดงตำแหน่งเอ็นยึดข้อต่อ
(ที่มา: http://www.infobarrel.com/Ankle_Anatomy

เอกสารอ้างอิง:
พจน์ แสงมณี และขวัญสุดา ประวะภูโต. (2552). Compact ชีววิทยา ม. 5 เล่ม 3, หน้า 27
ประดิษฐ์  เหล่าเนตร์ และณัฐภัสสร เหล่าเนตร์. (2554). หนังสือเรียน ชีววิทยาเพิ่มเติม เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6, หน้า 85-87


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน

< กลับหน้าหลัก>