แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน

การเคลื่อนที่แบบอะมีบา

การเคลื่อนที่แบบอะมีบา (amoeboid movement) พบในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจำพวกโพรโทซัวบางชนิดนอกจากนี้ยังพบในเซลล์เม็ดเลือดขาว อะมีบาเป็นโพรโทซัวที่ไม่มีโครงสร้างสำหรับการเคลื่อนที่โดยเฉพาะ แต่มีการสร้างขาเทียม (pseudopodium) โดยการไหลของไซโทพลาซึมเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ ไซโทพลาซึมของเซลล์อะมีบา  แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เอ็กโทพลาซึม (ectoplasm) เป็นไซโทพลาซึมชั้นนอก มีลักษณะเป็นสารกึ่งแข็งกึ่งเหลวเรียกว่า เจล (gel) และเอนโดพลาซึม (endoplasm) เป็นไซโทพลาซึมชั้นใน มีลักษณะค่อนข้างเหลว เรียกว่า โซล (sol) ภายในไซโทพลาซึมมีเส้นใยโปรตีนเล็ก ๆ เรียกว่า ไมโครฟิลาเมนท์ (microfilament) ซึ่งมีโปรตีนแอกทิน (actin) เป็นส่วนประกอบ การเปลี่ยนแปลงของแอกทินโดยการแยกตัวของแอกทินออกเป็นหน่วยย่อย ทำให้ไซโทพลาซึมเปลี่ยนสภาพจากเจลเป็นโซล แต่เมื่อมีการรวมตัวกันของแอกทินจะทำให้   ไซโทพลาซึมเปลี่ยนสภาพจากโซลเป็นเจลได้ ทำให้เกิดการไหลของไซโทพลาซึม โดยไซโทพลาซึมที่เหลวกว่าจะไหลไปในทิศทางที่เซลล์ต้องการเคลื่อนที่โดยดันให้เยื่อหุ้มเซลล์โป่งออกเรียกว่า ขาเทียม จากนั้น ไซโทพลาซึมส่วนที่เหลือจะเคลื่อนที่ตามในทิศทางเดียวกับขาเทียม จึงทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอะมีบา



รูปแสดงการเคลื่อนที่แบบอะมีบา
(ที่มา: http://bio1151.nicerweb.com/Locked/media/ch06/motility.html)

 

ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเคลื่อนที่แบบอะมีบา
ที่มา: http://www.youtube.com/watch?v=HlMsbN0J_PM)

เอกสารอ้างอิง: พจน์ แสงมณี และขวัญสุดา ประวะภูโต. (2552). Compact ชีววิทยา ม. 5 เล่ม 3,หน้า 1-2


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน

< กลับหน้าหลัก>