แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน

ระบบโครงกระดูก

คนมีกระดูกอยู่ในร่างกาย  ที่เรียกว่า  โครงร่างแข็งภายใน (endoskeleton) เมื่อร่างกายที่เจริญเ ติบโตเต็มที่จะมีกระดูกประมาณ 206 ชิ้น  ส่วนใหญ่จะมีกล้ามเนื้อยึดติดกับกระดูก

รูปแสดงระบบโครงกระดูกของคน
(ที่มา: http://www.bknowledge.org/pum/object/blog/access/bshow/srch/1/blid/2)

การจำแนกชนิดของกระดูก
..........กระดูกจำแนกตามขนาดและรูปร่างของกระดูกได้เป็น 4 ชนิด คือ
..........1. กระดูกแท่งยาว (long bone) ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของร่างกายและเคลื่อนไหวได้มาก ได้แก่ กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขน กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง กระดูกน่อง กระดูกไหปลาร้า เป็นต้น
..........2. กระดูกแท่งสั้น (short bone) ทำหน้าที่ให้ความแข็งแรงเมื่อทำงานแต่เคลื่อนไหวไม่มากนัก ได้แก่ กระดูกข้อมือ ข้อเท้า
..........3. กระดูกแบน (flat bone) ทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายใน จึงมักไม่ค่อยเคลื่อนที่ ได้แก่ กระดูกกะโหลก กระดูกเชิงกราน กระดูกสะบัก กระดูกอก กระดูกซี่โครง
..........4. กระดูกรูปร่างไม่แน่นอน (irregular bone) มักมีรูปร่างเป็นเหลี่ยม มีแง่ มีช่องโค้งไปมามากมาย ทำให้เหมาะสมกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกแก้ม กระดูกขากรรไกร เป็นต้น
กระดูกจำแนกตามตำแหน่งที่พบในร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กระดูกแกน (axial skeleton)และกระดูกรยางค์ (appendicular skeleton)
..........1. กระดูกแกน (axial skeleton)อยู่บริเวณตรงกลางของร่างกาย มี 80 ชิ้น ประกอบด้วย
..........- กระดูกกะโหลกศีรษะ (skull) มี 22 ชิ้น
..........- กระดูกสันหลัง (vertebrae) มี 26 ชิ้น ได้แก่ ส่วนคอ (cervical vertebrae) มี 7 ชิ้น ส่วนอก (thoracic vertebrae) มี 12 ชิ้น ส่วนเอว (lumbar vertebrae)มี 5 ชิ้น ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral vertebrae) มี 5 ชิ้น แต่เชื่อมรวมกันเป็นชิ้นเดียวเรียกว่า ซาครัม (sacrum) ส่วนก้นกบ (coccygeal vertebrae) มี 4 ชิ้น แต่เชื่อมรวมกันเป็นชิ้นเดียว เรียกว่าคอกซิกซ์ (coccyx)
..........- กระดูกหน้าอก (sternum) มี 1 ชิ้น
..........- กระดูกโคนลิ้น (hyoid bone) มี 1 ชิ้น
..........- กระดูกซี่โครง (ribs) มี 24 ชิ้น
..........- กระดูกหู มี 6 ชิ้น
.......... กระดูกกะโหลกศีรษะมีลักษณะเป็นแผ่นเชื่อมติดกัน ภายในเป็นโพรงที่บรรจุสมอง กะโหลกศีรษะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับสมอง 
กระดูกหุ้มสมอง
ของทารกในระยะแรกคลอดจะยึดเกาะกันด้วยเยื่อหุ้มซึ่งเป็นจุดที่อ่อนนุ่มเรียกว่า ขม่อม (fontanelles) ดังนั้นขณะคลอดทำให้กะโหลกศีรษะของทารกสามารถบีบเข้าได้เล็กน้อย เมื่อทารกอายุได้
18 เดือน กระดูกจะผสานเข้าด้วยกันและเชื่อมติดกันทำให้ส่วนของขม่อมหายไป
กระดูกใบหน้าเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดรูปทรงของใบหน้า กระดูกจะเชื่อมติดกันแน่น จะมีเพียงกระดูกขากรรไกรล่างซึ่งเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่สุดของกระดูกใบหน้าที่สามารถขยับเขยื้อนได้ จึงช่วยให้คนเราสามารถเคี้ยวอาหารได้


รูปแสดงกะโหลกศีรษะของคน
(ที่มา: http://www.umm.edu/imagepages/8915.htm)
(ที่มา: http://www.umm.edu/imagepages/9057.htm)

กระดูกสันหลัง (vertebrae) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางเพื่อค้ำจุนร่างกาย ห่อหุ้มไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ตลอดแนวความยาวของกระดูกสันหลัง ลักษณะทั่วไปของกระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูก
รูปร่างไม่แน่นอนหรือกระดูกรูปร่างแปลกเชื่อมต่อกันเป็นข้อๆ เริ่มตั้งแต่บริเวณต้นคอจนถึงส่วนสะโพก ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อน (cartilage) ซึ่งเรียกว่า หมอนรองกระดูก (intervertebral disc) รองรับ และเชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ หมอนรองกระดูกช่วยป้องกันการเสียดสีของกระดูกสันหลัง ในกรณีที่หมอนรองกระดูกเสื่อมจะทำให้ไม่สามารถบิดหรือเอี้ยวตัวได้ นอกจากนี้กระดูกสันหลังแต่ละข้อยังมีช่องสำหรับให้ไขสันหลังสอดผ่าน และจะงอยื่นออกมาใช้เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็น สำหรับกระดูกสันหลังช่วงอกจะมีกระดูกซี่โครงเชื่อมต่อ


รูปแสดงโครงสร้างของกระดูกสันหลัง
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=37354)
(ที่มา: http://www.spineuniverse.com/anatomy/spinal-structure-body-mechanics)

           

กระดูกหน้าอก (sternum) มีอยู่ 1 ชิ้น ตำแหน่งของกระดูกอยู่ด้านหน้า ยึดอยู่กับกระดูกซี่โครง 10 คู่
กระดูกซี่โครง (ribs) เป็นกระดูกฟองน้ำที่ล้อมรอบด้วยกระดูกเนื้อแน่น 2 ชั้น มีลักษณะแบบโค้งเรียงเป็นซี่ๆ เชื่อมต่อกับด้านข้างของกระดูกสันหลังช่วงอกกับกระดูกหน้าอก มีทั้งหมด 24 ชิ้น กระดูกซี่โครงคู่ที่ 1-7 เรียกว่า กระดูกซี่โครงแท้ (true ribs) กระดูกซี่โครงคู่ที่ 8-10 เรียกว่า กระดูกซี่โครงไม่แท้ (false ribs) เนื่องจากกระดูกไม่เชื่อมติดกับกระดูกอกโดยตรงแต่เชื่อมรวมอยู่กับกระดูกซี่โครงแท้คู่ที่ 7 ส่วนกระดูกซี่โครงคู่ที่ 11 และ 12 จะเป็นซี่สั้นๆ ทำให้ปลายด้านหน้าไม่เชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอกกระดูกซี่โครงทั้ง 2 คู่ จึงเรียกว่า  ซี่โครงลอย (floating ribs)
.......... กระดูกซี่โครงทำหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด และทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครงแถบนอกและแถบในเกี่ยวกับการหายใจ


รูปแสดงโครงสร้างของกระดูกซี่โครง
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=37352)

..........2. กระดูกรยางค์ (appendicular skeleton) เป็นโครงกระดูกที่อยู่รอบนอกของกระดูกแกน มี 126 ชิ้น และช่วยในการเคลื่อนไหวของแขนและขา ประกอบด้วย
- กระดูกสะบัก (scapula) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกไหปลาร้า (clavicle) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกต้นแขน (humerus) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกปลายแขน (radius และ ulna) ข้างละ 2 ชิ้น
- กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ และกระดูกนิ้วมือ (carpal metacarpal และphalanx) ข้างละ 85 และ14 ชิ้น ตามลำดับ
- กระดูกเชิงกราน (pelvic girdle) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกต้นขา(femur) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกปลายขา (tibia และ fibula) ข้างละ 2 ชิ้น
- กระดูกสะบ้า (patella) ข้างละ 1 ชิ้น
- กระดูกฝ่าเท้า (metatarsal) ข้างละ 5 ชิ้น
- กระดูกข้อเท้า (tarsal) ข้างละ 7 ชิ้น
- กระดูกนิ้วเท้า (phalanx) ข้างละ 14 ชิ้น

กระดูกแขน (arm bone) มีข้างละ 30 ชิ้น รวมทั้งหมด 60 ชิ้น โดยกระดูกต้นแขน (humerus) แต่ละข้างจะยึดอยู่กับกระดูกหัวไหล่ (shoulder girdle) ซึ่งประกอบด้วยกระดูกสะบัก (scapula) และกระดูกไหปลาร้า (clavicle) กระดูกต้นแขนที่อยู่ถัดจากกระดูกไหปลาร้าเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อไบเซพ (biceps) ถัดจากกระดูกต้นแขนคือ กระดูกปลายแขน ประกอบด้วยกระดูกปลายแขนท่อนใน (ulna) กับกระดูกปลายแขนท่อนนอก (radius) ต่อด้วยกระดูกข้อมือ (carpals) ข้างละ 8 ชิ้น กระดูกฝ่ามือ (metacarpal) ข้างละ 5 ชิ้น และกระดูกนิ้วมือ (phalanges) ข้างละ 14 ชิ้น ระหว่างกระดูกแต่ละท่อนเชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อ (joint)


รูปแสดงโครงสร้างของกระดูกแขน
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=75256)
(ที่มา: http://www.eorthopod.com/content/arthritis-finger-joints)

กระดูกขา  (leg bone) มีข้างละ 30 ชิ้น โดยกระดูกต้นขา (femur) แต่ละข้างยึดติดอยู่กับกระดูกเชิงกราน (pelvic girdle) ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะภายใน เช่น ลำไส้ มดลูก ถัดจากกระดูกต้นขาคือ กระดูกสะบ้า (patella) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้ง (tibia) และกระดูกน่อง (fibula) กระดูกสะบ้าจะช่วยให้ร่างกายเราสามารถงอขา เดินหรือวิ่งได้ ถัดจากกระดูกหน้าแข้งกับกระดูกน่องคือ กระดูกข้อเท้า (tarsals) ข้างละ 7 ชิ้น กระดูกฝ่าเท้า (metatarsals) ข้างละ 5 ชิ้น และกระดูกนิ้วเท้า (phalanges) ข้างละ 14 ชิ้น การจัดเรียงตัวของกระดูกที่เท้าทำให้เท้ามีโครงสร้างในลักษณะรูปโค้ง ซึ่งช่วยในการถ่ายน้ำหนักของร่างกาย


รูปแสดงโครงสร้างของกระดูกขา
(ที่มา: http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=75256)
(ที่มา: http://skyheel.blogspot.com/2010/08/foot-anatomy.html)

                                            

รูปแสดงข้อต่อกระดูกหัวเข่าประกอบด้วยเอ็นและหมอนรองกระดูก
(ที่มา: http://www.zimmer.co.th/web2/home.php?main=patient&param=knee_quad_pain)

กล่าวโดยสรุป โครงกระดูกมีความสำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ทำหน้าที่เป็นแกนค้ำจุนร่างกาย
2. เป็นที่ยึดของกล้ามเนื้อลาย ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของร่างกาย
3. ป้องกันอันตรายและการกระทบกระเทือนให้กับอวัยวะในร่างกาย
4. เป็นแหล่งสะสมแคลเซียม

เอกสารอ้างอิง:
ประดิษฐ์  เหล่าเนตร์ และณัฐภัสสร เหล่าเนตร์. (2554). หนังสือเรียน ชีววิทยาเพิ่มเติม เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6, หน้า 85-87
ประสงค์ หลำสะอาด และจิตเกษม หลำสะอาด. (2554). คู่มือชีววิทยา ม.4-6 เล่ม 2, หน้า 275
พจน์ แสงมณี และขวัญสุดา ประวะภูโต. (2552). Compact ชีววิทยา ม. 5 เล่ม 3, หน้า 21


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน

< กลับหน้าหลัก>